ประวัติโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก - แม่งัด จังหวัดเชียงใหม่ 

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก - แม่งัด แยกความเป็นมาของการดำเนินงานออกเป็น 2 ช่วง คือ
       1. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก  
       2. เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

โครงการชลประทานแม่แฝก แต่เดิมการชลประทานประเภทเหมืองฝายในภาคเหนือได้มีประวัติการดำเนินงานโดยราษฎรมากว่า 700 ปี โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นทำ ก่อสร้างเป็นตัวฝาย ซึ่งได้แก่ ไม้ไผ่ ไม้เบญจพรรณ หิน กวด และทรายแต่ฝายพื้นเมืองดังกล่าวชำรุดเสียหาย
ต้องทำการซ่อมแซมทุกปี เป็นการสิ้นเปลืองแรงและทรัพยากรป่าไม้ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

"กรมทดน้ำ" หรือ "กรมชลประทาน" ในปัจจุบัน จึงได้มีนโยบายที่จะจัดสร้าง โครงการประเภทเหมืองฝายขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม
่ เพื่อช่วยเหลือราษฎรมีน้ำใช้ในการเพาะปลูกอย่างเพียงพอ ในปี พ.ศ.2469 จึงได้มีการสำรวจ ภูมิประเทศเพื่อจะจัดทำฝายทดน้ำขึ้นใน ลุ่มน้ำปิงตอนกลาง ปี พ.ศ. 2471การวางโครงการก็ได้กระทำเสร็จเรียบร้อย เรียกชื่อโครงการนี้ว่า"โครงการชลประทานแม่แฝก"
และได้เริ่มก่อสร้าง"ฝายสินธุกิจปรีชา" ในปี พ.ศ. 2472 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2479โดยดำเนินการก่อสร้างกั้นลำน้ำปิงสามารถทดน้ำปิง
เพื่อส่งน้ำ ให้แก่ พื้นที่ชลประทาน ประมาณ 70,000 ไร่ ได้อย่างสมบูรณ์ เป็นประโยชน์อย่างมากต่อพื้นที่ในเขตโครงการ ซึ่งนับได้ว่า เป็นโครงการของกรมชลประทาน แห่งแรกในภาคเหนือที่มีอายุยืนนาน และสามารถส่งน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพจนถึงปัจจุบัน
เป็นเวลา 70 ปีแล้ว
 

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อ พ.ศ. 2495 ราษฎรในเขตตำบลช่อแล และตำบลแม่หอพระ  อำเภอแม่แตง   จังหวัดเชียงใหม่ ได้ร่วมมือกันก่อสร้าง
ฝายปิดกั้นลำน้ำแม่งัดขึ้น ลักษณะเป็น ฝายพื้นเมือง แบบหินทิ้ง ด้านบนยาแนวด้วยคอนกรีต เพื่อทดน้ำแล้วส่งน้ำให้พื้นที่นาประมาณ 3,600 ไร่ ซึ่งการก่อสร้างดังกล่าวราษฎรได้ช่วยกันทำตามแบบที่เคยทำกันมาตั้งแต่ดั้งเดิม จึงเป็นเหตุให้ฐานรากของตัวฝายขาดความมั่นคงแข็งแรงในปี
พ.ศ. 2516 ได้เกิดอุทกภัย ครั้งใหญ่ขึ้น ทำให้ฝายแม่งัดเสียหายใช้การไม่ได้ราษฎรร้องขอให้ทางราชการก่อสร้าง ให้ใหม่เป็นฝายถาวร
กรมชลประทานได้ทำการพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรซ่อมแซมฝาย ที่ชำรุดให้มีสภาพดีและพอใช้งานได้ไปก่อน ต่อมาราษฎรในท้องที่
ตำบลช่อแล ตำบลบ้านเป้า และตำบลแม่หอพระอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ก็ได้ร้องขอให้ทางราชการสร้างฝายแม่งัด พร้อมทั้งขุดคลอง
ส่งน้ำ เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูก ทั้งสองฝั่งลำน้ำแม่งัด บริเวณสาม ตำบล ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่งกรมชลประทานจึงได้ทบทวนและพิจารณา เปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้างโครงการชลประทานประเภทฝาย ซึ่งสามารถอำนวยประโยชน์ให้ราษฎร ได้อย่างเพียงพอเท่าที่ร้องขอ กับการก่อสร้างโครงการชลประทานประเภท อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่แบบเอนกประสงค์ 
   ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎร บริเวณที่จะสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำใน วันที่ 21 มกราคม 2520
กรมชลประทานได้กราบบังคมทูลถวายรายงานเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการก่อสร้างโครงการชลประทานประเภทฝาย
และประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำแม่งัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทาน พระราชดำริว่า
"โครงการประเภทใดถ้าหาก พิจารณาแล้วเห็นว่า สามารถอำนวยประโยชน์ได้มากกว่า ก็สมควรเลือกสร้างโครงการประเภทนั้น" ด้วยเหตุนี้กรมชลประทานจึงพิจารณาเลือกสร้างโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และได้เริ่มลงมือก่อสร้าง
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 แล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2528 สามารถเก็บกักน้ำ ไว้ส่งให้แก่พื้นที่ เพาะปลูกทั้งหมดในเขตโครงการฯ
ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ ได้เพียงพอตลอดทั้งปีอีกทั้งยังใช้ประโยชน์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมงอีกด้วย
วันที่ 16 มกราคม 2529  กรมชลประทานได้ขอพระราชทานชื่อเขื่อนแห่งนี้เพื่อเป็นศิริมงคล พระบาทสมเด็จฯ พระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงมี
พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อเขื่อนแห่งนี้ว่า "เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล" และทรงเสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนแห่งนี้
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2529 
    กรมชลประทานได้พิจารณาถึงการดำเนินการส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เพื่อทำการชลประทานให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำแม่งัด
และการควบคุมปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่จะไหลลงสู่ลำน้ำเดิมมายัง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝกและพื้นที่ตอนล่างเห็นว่ามีความ
สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงผลประโยชน์กัน เพื่อให้การส่งน้ำดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กรมชลประทานจึงได้รวมโครงการทั้งสองคือ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝกและเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ดังกล่าวเข้าไว้ด้วยกัน
มีการบริหารงานศูนย์รวมที่เดียวกัน และตั้งชื่อโครงการใหม่ว่า"โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก - แม่งัด โดยเริ่มทำงานด้านส่งน้ำและบำรุงรักษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา